แต่งเพลงให้มีไดนามิคด้วยกล่อง

สวัสดีครับ จากที่ตอนที่แล้ว แต่งเพลงยังไงไม่ให้คนฟังเบื่อ ที่พูดถึงเรื่อง ไดนามิคในการแต่งเพลง หรือการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เพลงไม่น่าเบื่อ และสามารถผูกผู้ฟังให้ติดตามฟังได้จนจบเพลง

ในตอนนี้จะพูดถึงเครื่องมือที่ช่วยในการแต่งเพลง โดยเฉพาะเนื้อหาของเพลงครับ สิ่งนั้นก็คือ กล่อง!! หรือที่ในคอร์สเรียก Box นั่นเองครับ!!

Boxes

แต่งเพลง4



การใช้ กล่อง เหล่านี้ในการช่วย แต่งเพลง คือ ให้เราแต่งเนื้อหาแล้วใส่ลงไปใน กล่อง (Box) นั่นเอง โดยขั้นต่ำจะต้องมี 3 กล่อง โดยเนื้อหาจะต้องเพิ่มระดับไปเรื่อย ดังจะเห็นความใหญ่ของกล่อง โดยเนื้อหา "กล่อง 2 จะต้องมีเนื้อหาระดับของเนื้อหามากกว่าและครอบคลุมกล่องที่ 1" และ "กล่อง 3 จะต้องมีระดับเนื้อหามากกว่าและครอบคลุมกล่อง 2" ดังภาพด้านล่าง โดย กล่องที่ 3 คือ สิ่งที่ต้องการสื่อ หรือ ประเด็นหลัก ของเพลง

ให้อธิบายง่ายๆคือ กล่อง 1 -> 2 -> 3 จะมีเนื้อหาที่เข้าประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเนื้อหาต้องสอดคล้องกันนั่นเอง

สามารถเพิ่มจำนวนกล่องได้ แต่เราต้องใช้ 3 กล่องเป็นอย่างต่ำในการ แต่งเพลง และ 3 กล่องนี้ก็เป็นระดับเนื้อหาปกติในการแต่งเพลงทั่วไป แน่นอนว่าถ้าเนื้อหามีน้อยไปก็จะทำให้เพลงซ้ำๆไม่มีอะไรไปตลอดเพลง

ปล. กล่องทั้งสามนี้ไม่ใช่ท่อนในเพลง หรือ Song Form (แต่ภายหลังเราจะนำเนื้อหาในแต่ละกล่องไปใส่ในท่อนของเพลง)

การใช้งานกล่อง

การใช้งานกล่องในการแต่งเพลงนั้น ให้เราคิดเนื้อหาแล้วใส่เข้าไปในกล่อง โดยเราจะใช้หลักการที่พูดไปในตอนก่อนๆ ในเรื่อง Point of view หรือมุมมองบุคคล (มาแต่งเพลงกันเถอะ!! (ตอนที่ 1) ฉัน เธอ และ เขา) และการคิดเนื้อหาจาก คำถามทั้ง 6 (มาแต่งเพลงกันเถอะ!! (ตอนที่ 2) ใคร อะไร ยังไง?)

โดยจะมีหลักการที่สำคัญคือ

  1. แต่ละกล่องต้องสอดคล้องกัน (แน่นอนว่าถ้าเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อยๆ คนฟังคงฟังเพลงไม่รู้เรื่อง) 
  2. กล่อง 1 จะต้องเพิ่มเนื้อหาขึ้นเรื่อยๆไปจนถึง กล่อง 3 ที่เป็นประเด็นหลักของเพลง
  3. เนื้อหาจะต้องเพิ่มระดับ เปลี่ยนไปจนถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อจริงๆ

โดยเราอาจใช้วิธีในการเพิ่มระดับของเนื้อหาในแต่ละกล่องโดย

  • เปลี่ยน Point of View ในแต่ละช่องไปเรื่อยๆ
  • เปลี่ยนช่วงเวลา

ปล. ในความเป็นจริงในการแต่งเพลงเราไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นรูปกล่องก็ได้ แค่ใช้หลักการที่กล่าวมาก็ได้ครับ

ตัวอย่างที่ 1 การใช้งานกล่องในการแต่งเพลง

ประเด็นหลักที่อยากบอกคือ ยิ่งใกล้ ยิ่งไม่รู้ 
(ใช้เพลงที่แต่งคร่าวๆไปเมื่อตอนที่ 2 นะครับ)

กล่องที่ 1:  (ใครทำอะไรที่ไหน) ฉันหลงรักเธอตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอที่ค่ายรับน้อง

กล่องที่ 2:  (ใครทำอะไรอย่างไร) ฉันจึงได้เข้าไปอยู่ใกล้ๆเธอ เป็นเพื่อนเธอ

กล่องที่ 3: ยิ่งใกล้เธอ เธอก็ยิ่งไม่รู้ หรือเธอรู้แต่เธอไม่รับมัน

ตัวอย่างที่ 2 การใช้ "Point of view" ในการเพิ่มระดับเนื้อหาในกล่อง

กล่องที่ 1: ฉันรักเธอ ทำเพื่อเธอทุกอย่าง 

กล่องที่ 2: เธอรักเขา เธอทำเพื่อเขาทุกอย่าง

กล่องที่ 3: ต้องทำยังไงเธอถึงจะรักฉัน

ตัวอย่างที่ 3 การใช้ "ช่วงเวลา" ในการเพิ่มระดับเนื้อหาในกล่อง

กล่องที่ 1: เมื่ออดีตที่ฉันได้เจอเธอ ฉันก็หลงรักเธอ

กล่องที่ 2: ตอนนี้ทำได้อยู่ใกล้ๆเธอ

กล่องที่ 3: อนาคตจะเป็นแฟนเธอให้ได้ ต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว

จะเห็นว่าจริงๆแล้วไม่ได้มีอะไรมาก  แต่เป็นเครื่องมือที่เรานำมาใช้ในการแต่งเพลง เพื่อให้เนื้อหาเคลื่อนที่ไปข้างหน้า มีการเปลี่ยนแปลง ไปยัง "Central Idea" หรือ ประเด็นสำคัญหลักของเพลง  ทำให้เนื้อเพลง ไม่วกวน หรือ สับสนนั่นเอง ใช้ง่ายๆแค่แบ่งเป็นสามส่วนแล้วคิดเนื้อหาเป็นระดับตามวิธีการของกล่องที่ได้กล่าวไปครับ

ในตอนต่อไป ผมจะพูดถึงเรื่อง รูปแบบของเพลง หรือ Song Form พวก ท่อนส่ง ท่อนฮุค ซึ่งจะพูดถึงการ นำเนื้อหาที่แต่งใน Boxes ไปใช้ลงในแต่ละท่อน (ตาม Link นี้เลยครับ "แต่งเพลงต้องเข้าใจ Song Form" )