แต่งเพลงดีต้องเลือก ประเภทของสัมผัส (Rhyme)

แต่งเพลงดีต้องเลือก ประเภทของสัมผัส (Rhyme)

จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงเรื่อง "คำสัมผัส" หรือ Rhyme ในการ แต่งเพลง นะครับ (ใครยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้วเข้าตาม Link นี้เลยครับ แต่งเพลงให้ดีด้วย รูปแบบของสัมผัส) ซึ่งจากที่บอกไปว่า ถ้ามีคำสัมผัสเป็นคู่จะให้ความรู้สึก "เสถียร" สมบูรณ์หรือคลี่คลายขึ้นมา

นอกจากนี้ "คำสัมผัสคล้องจอง" ยังสามารถแบ่งประเภท และให้ความรู้สึก "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ที่ต่างกัน ในตอนนี้จะกล่าวถึง "ประเภทของสัมผัส" ที่จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน ปรับแต่งคำสัมผัสคล้องจอง ในการแต่งเพลง ให้เหมาะสมตามที่ต้องการครับ

ประเภทของสัมผัส

ผมได้ปรับเนื้อหาที่ผมเรียนมาจากวิชา Songwriting ของ Coursera นะครับ เพราะอันนั้นสอนในรูปแบบสัมผัสของภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษจะยุ่งยางในด้านตัวสะกดมากกว่า เช่น fast มีเสียง st ในขณะที่คำไทยถ้าอ่านจะตรงๆ "ฟาส" ก็จะอ่าน "ฟ้าด" (ถ้าไม่ได้ตั้งใจอ่านทับศัพท์นะครับ) ซึ่งเสียงตัวสะกดหรือมาตราตัวสะกดของภาษาไทยมี 9 เสียงคือ

แม่ ก กา (ไม่มีเสียงตัวสะกด)
แม่ กด (เสียง ด)
แม่ กก (เสียง ก)
แม่ กบ (เสียง บ)
แม่ กง (เสียง ง)
แม่ กน (เสียง น)
แม่ กม (เสียง ม)
แม่ เกย (เสียง ย) เช่น กาย ทราย เนย ซึ่งเสียงนี้อาจพูดว่าเป็นสระผสมก็ได้ คือ กาย = กา+อี เป็นต้น
แม่ เกอว (เสียง ว) เช่น กาว ดาว นัว เดี๋ยว ซึงเสียงนี้อาจเป็นสระผสมได้เช่น กาว = กา+อู

โดยแม่ เกย กับ เกอว ผมจะมองว่าให้มองเป็นรูปสระซะส่วนใหญ่ครับ เช่น เดียว จะแบ่งได้ = ดี+อา+อู รวมกันครับ (ลองพูด ดีอาอู เร็วๆจะได้ เดียว) ครับ เลยให้มองว่าไม่มีตัวสะกดแทน เป็นแม่ ก กา จะสะดวกกว่าครับ

ประเภทสัมผัสจะแบ่งได้ดังนี้

  1. สัมผัสสมบูรณ์ คำสัมผัสคล้องจองแบบนี้จะมีลักษณะคือ
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงตัวสะกดเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน (ถ้าเหมือนกันจะเกิด ความซ้ำ ทำให้ฟังแล้วไม่คลี่คลาย ไม่นับเป็นคำสัมผัส)

    เช่น ฉัน - วัน, เธอ - เจอ, รัก - หัก เป็นต้น

  2. สัมผัสใกล้เคียง มีลักษณะดังนี้
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกด ต่างกันใช้เสียงใกล้เคียงแทนกัน คือ
      แม่ [กก กด กบ] ใช้แทนกันได้
      แม่ [กง กน กม] ใช้แทนกันได้ครับ

    เช่น ฉัน - ทำ, กลับ - รัก

  3. สัมผัสแบบเพิ่ม มีลักษณะดังนี้
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • มีเสียงสระเริ่มต้นเหมือนกัน
    • เพิ่มเติม ส่วน สระ และ ตัวสะกดของคำหลังเข้าไปให้ยาวกว่า
    • หรือ สระของคำหน้าเป็นสระเสียงสั้น สระของคำหลังเป็นสระเสียงยาว

    หรือถ้าให้พูดง่ายๆ คือ สระออกเสียงเดียวกันส่วนนึง แต่คำหลังจะมีความยาวมากกว่านั่นเอง เช่น
    ฟ้า - ดาว (ดาว เป็นคำหลัง ประกอบด้วยสระ อา+อู มีสระอูเข้ามา)
    รัก - มาก (สระคำแรกเป็น -ะ สระคำหลังเป็น -า ซึ่งเป็นสระเสียงยาวของ -ะ)
    เสีย - เดียว (เสีย = สี+อา , เดียว = ดี+อา+อู)

  4. สัมผัสแบบลด จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับ สัมผัสแบบเพิ่ม คือ
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • มีเสียงสระเริ่มต้นเหมือนกัน
    • เพิ่มเติม ส่วน สระ และ ตัวสะกดของคำหน้าเข้าไปให้ยาวกว่า
    • หรือ สระของคำหน้าเป็นสระเสียงยาว สระของคำหลังเป็นสระเสียงสั้น


    หรือก็คือ คำหน้า จะสั้นกว่าคำหลัง เช่น
    ความ - ตา
    เลย - เธอ

  5. สัมผัสไม่พ้อง จะมีลักษณะคือ
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกดต่างกันเลยโดยไม่ใช่สัมผัสใกล้เคียง

    เช่น รัก - ฉัน, กลับ - ครั้ง

  6. สัมผัสพ้องตัวสะกด จะมีลักษณะคือ
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกดเหมือนกัน
    • เสียงสระต่างกัน (ถ้าเป็นสระผสม สระตัวสุดท้ายเหมือนกันได้ เช่น แม่เกย ที่ลงท้ายด้วยสระ อี ตลอด เป็นต้น)


    เช่น วัด - โหวต, หาย - โหย, มาก - โลก

   ทีนี้เราก็มาดูว่าสัมผัสทั้ง 6 ประเภท เมื่อนำเอาไปใช้ในการ แต่งเพลง จะทำให้เกิดความรู้สึก "เสถียร" "ไม่เสถียร" อย่างไร

แต่งเพลง10



  จากกราฟด้านบนแสดงให้เห็นว่า สัมผัสแต่ละประเภทจะให้ความรู้สึก "เสถียร" ไล่ไปตามความสมบูรณ์ของสัมผัสตั้งแต่

สัมผัสสมบูรณ์ > สัมผัสใกล้เคียง > สัมผัสแบบเพิ่ม/แบบลด > สัมผัสไม่พ้อง > สัมผัสพ้องตัวสะกด
  • สัมผัสสมบูรณ์ จะให้ความรู้สึก "เสถียร" รู้สึกสมบูรณ์ จบ มากที่สุด เพราะทุกองค์ประกอบคล้องจองครบถ้วน แต่อาจทำให้สมบูรณ์ แข็งเกินไป อาจใช้ สัมผัสใกล้เคียง แทนได้
  • สัมผัสใกล้เคียง จะให้ความรู้สึกไปทาง "เสถียร" เพราะ ยังมีสัมผัสเสียงสระ และ ตัวสะกดยังใกล้เคียง แน่นอนว่าช่วยให้เราสามารถเลือกใช้คำได้มากขึ้น ในกรณีหา สัมผัสสมบูรณ์ได้ยาก
  • สัมผัสแบบเพิ่ม และ ลด อาจให้ทั้งความรู้สึกไปทาง "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ได้ โดยแบบเพิ่ม จะสามาถให้ความรู้สึกแบบเสถียร และ "เน้น" คำหลังที่เพิ่มขึ้นมาได้ ส่วนแบบ ลด จะให้ความรู้สึกแบบไม่เสถียร ให้ความรู้สึก ค้างคา "ต้องมีต่อ" ได้ลักษณะคล้ายเรื่อง ความยาววรรค
  • สัมผัสแบบไม่พ้อง เพราะเสียงตัวสะกดต่างกันมาก จึงให้ความรู้สึกแบบ "ไม่เสถียร"
  • สัมผัสแบบพ้องตัวสะกด ยังเป็นสัมผัสอยู่ แต่ว่าเนื่องจากไม่สัมผัสสระ จึง "ไม่เสถียร" ที่สุด

เป็นยังไงบ้างครับ ไม่ยากใช่มั้ยครับ เนื่องจากในการแต่งเพลง "สัมผัสคล้องจอง" เป็นสิ่งสำคัญถ้าอยากให้ฟังแล้วรู้สึกความรู้สึกด้านอารมณ์เยอะๆ ไม่เสถียร ต้องมีต่อ ตื่นเต้น นอกจากการตัดการมีคำคล้องจองออกไป ยังสามารถเลือกใช้ "ประเภทของสัมผัส" ให้ถูกต้องและเหมาะสมได้ด้วย

แต่งเพลงให้ดีด้วย รูปแบบของสัมผัส (Rhyme)

แต่งเพลงให้ดีด้วย รูปแบบของสัมผัส (Rhyme)

หลังจากที่ได้กล่าวถึงเรื่อง "วรรค" ในการแต่งเพลงไปแล้ว คราวนี้จะมาดูเรื่อง "สัมผัส" หรือคำคล้องจอง หรือ Rhyme กันครับ ว่ามันมีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟังอย่างไร จัดการอย่างไรครับ

ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอนที่เกี่ยวกับ "เสถียร" "ไม่เสถียร" และเรื่อง "วรรค" อาจจะไม่เข้าใจครับ สามารถย้อนกลับไปดูตาม Link นี้ได้เลยครับ
แต่งเพลงให้เข้าถึงอารมณ์ด้วย Stable Unstable
แต่งเพลง จำนวนวรรค ก็สำคัญ
แต่งเพลงให้แตกต่างด้วย ความยาววรรค

คำสัมผัสคล้องจอง

คำสัมผัสคล้องจองเป็นสิ่งที่สำคัญในการแต่งเพลง โดยเฉพาะเพลงไทยที่เพลงมีพื้นฐานมาจากกลอน กาพย์ แน่นอนในเพลงภาษาต่างประเทศก็มีใช้เช่นกันโดยในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Rhyme

คำสัมผัสคล้องจอง

คือคำที่มีความเหมือนกันในด้านสระและพยัญชนะ ในด้านการแต่งเพลงนี้จะไม่พูดถึง "สัมผัสพยัญชนะ" แต่จะพูดถึง "สัมผัสสระ"

สัมผัสสระ อธิบายง่ายๆคือ คำที่เวลาอ่านมีคล้องกันทั้งสระ และ ตัวสะกด ถ้าให้พูดง่ายๆคือ เมื่ออ่านแล้ว จะอ่านเหมือนกันหมด นอกจากพยัญชนะที่อ่านต่างกัน
เช่น
ฉัน - วัน
ใส - วัย
มาก - ยาก

แล้วมันมีผลอย่างไร ในเชิงจิตวิทยา ถ้ามีสัมผัสหรือคำคล้องจองในตำแหน่งที่ถูกต้อง ผู้ฟังจะรู้สึกคลี่คลาย สมบูรณ์ เช่นว่า เวลาแต่งกลอนทำไมถึงต้องมีสัมผัสคล้องจอง พอสัมผัสคล้องจองลงตำแหน่งตามแบบแผนของกลอน ก็จะรู้สึกว่ากลอนนี้สมบูรณ์ ซึ่งในที่นี้ผมได้พูดไปว่ามันก็คือ "เสถียร" นั่นเอง ซึ่งผมจะพูดถึงวิธีการจัดการ การแต่งเพลงให้คำคล้องจองเหมาะสมกับเนื้อเพลง อารมณ์เพลง "เสถียร" "ไม่เสถียร"

ปล. คำที่อ่านเหมือนกัน จะไม่นับเป็นสัมผัส แต่จะเป็นคำซ้ำ เช่น คำเดียวกัน หรือ กัน - กัลป์ เป็นต้น ซึ่งคำซ้ำจะก่อให้เกิดความ "ไม่เสถียร" เหมือนเวลาเราพูดคำติดกันบ่อย เช่น "เธอ เธอ เธอ เธอ ..." ผู้ฟังก็จะสงสัยว่า "เธอ" อะไร? เกิดความรู้สึกไม่คลี่คลาย สมบูรณ์นั่นเอง

รูปแบบของสัมผัส

เป็นรูปแบบของสัมผัสของวรรค ระหว่างวรรค มีผลต่อการได้ยิน ชี้นำให้คนฟังคาดหวัง โดยจะมีความ "เสถียร" "ไม่เสถียร" ขี้นกับรูปแบบ

โดยส่วนใหญ่ สัมผัสที่มีสำคัญต่อความรู้สึก จะอยู่ที่คำหลังสุดของวรรค โดยสัมผัสรูปแบบที่เป็น เสถียร จะเป็นรูปแบบที่ครบคู่กัน อย่างที่บอกไปว่า ผู้ฟังตามมักจะคาดหวังสิ่งที่ครบคู่เสมอ

รูปแบบที่เสถียร
จะเสถียรได้นั้น เรื่องของ จำนวนวรรค เป็นสิ่งสำคัญ จำนวนวรรคต้องเป็นจำนวนคู่ก่อน (เสถียร) โดยในที่นี้จะพูดถึงรูปแบบ 4 วรรค มีรูปแบบสัมผัสดังนี้

(หลังจากนี้ วรรคไหนที่มีสัมผัส คล้องจองกัน จะใช้ตัวอักษรแทนตัวเดียวกันครับ เช่น a , b ถ้าเป็น x จะหมายความว่าไม่ได้คล้องจองกับวรรคไหน ส่วน O แทนพยางค์ในวรรค)

  • aabb
    แต่งเพลง9
    รูปแบบแบบนี้จะเป็นแบบ "เสถียร" เพราะลงตัวเป็นคู่สัมผัสกันพอดี
  • abab

    รูปแบบนี้จะเป็นแบบ "เสถียร" ที่พอคนฟังได้ฟังแล้วจดจำว่า ab แล้ว พอมี a มาอีกจึงคาดหวัง b พอลงมาเป็น b จึงสมบูรณ์ รูปแบบนี้ยังช่วยในการ "เน้น" วรรคที่สี่ได้อีกด้วย (เพราะคนฟังคาดหวัง b)

  • xaxa

    รูปแบบนี้เป็น "เสถียร" เพราะเป็นคู่สมบูรณ์ 1 คู่ ตามที่คนฟังคาดหวังไว้จาก a ในรอบแรก พอวรรคสุดท้ายคล้องจองจึงให้ความรู้สึกคลี่คลาย
  • xxaa

    รูปแบบนี้ xxaa จะเสถียรได้ในกรณี วรรคแต่ละวรรคมี "ความยาววรรคเท่ากันเท่านั้น"

รูปแบบที่ไม่เสถียร
ท่อนนั้นของเพลงจะไม่เสถียรก็เมื่อ จำนวนวรรค เป็นจำนวนคี่ สำคัญก่อน แต่ถ้าในกรณี จำนวนวรรคเป็นคู่ เราก็สามารถใช้รูปแบบสัมผัสในการทำให้มีความรู้สึกไม่เสถียรในท่อนได้

  • xxaa

    รูปแบบนี้เมื่อ "ความยาวแต่ละวรรค" ไม่เท่ากันจะเป็น "ไม่เสถียร" ยิ่งถ้า "วรรคที่สี่" ยาวกว่า วรรค 3 จะมีลักษณะที่ช่วย "เน้น" วรรคที่สี่ให้ "เด่น" ขึ้นมาด้วย
  • abba

    รูปแบบนี้จะเป็น "ไม่เสถียร" ให้ความรู้สึกต้องมีต่อ

ปล. สัมผัสเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้านหลังสุดนะครับ

รูปแบบนอกจากที่กล่าวมาใน "เสถียร" จะให้ความ "ไม่เสถียร" เช่น หรือรูปแบบอื่นๆที่สัมผัสไม่เป็นคู่กันหรือ "ไม่มีสัมผัสกันเลย" ที่จะให้ความรู้สึกต้องมีต่อ ฟังไม่รู้สึกว่าคลี่คลาย ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกำลังขึ้นภูเขา แน่นอนว่าเมื่อคนฟังคาดหวังคำสัมผัสที่ลงตัว เมื่อไม่มีสัมผัสเลย คนฟังย่อมรู้สึกอึดอัด

วิเคราะห์จากตัวอย่างเพลง

ยกตัวอย่างเช่น เพลง ก้อนหินก้อนนั้น - โรส ศิรินทิพย์

"...เคยมีใครสักคนได้บอกฉันมา
ว่าเวลาใครมาทำกับเราให้เจ็บช้ำใจ
ลองไปเก็บก้อนหินขึ้นมาสักอัน
ถือมันอยู่อย่างนั้นและบีบมันไว้ .."
ท่อน Verse ท่อนนี้ จะเห็นว่าเป็นแบบ abab เป็นแบบ "เสถียร" ซึ่งเหมาะกับการใช้ท่อน Verse ที่เริ่มต้นกล่าวเนื้อหา ข้อมูล ชัดเจน ยังไม่มีอารมณ์มากนัก (อาจสงสัยว่า "มา" กับ "อัน" สัมผัสคล้องจองกันหรือ? สามารถอ่านได้ที่ แต่งเพลงดีต้องเลือก ประเภทของสัมผัส เลยครับ )
"บีบให้แรงจนสุดแรง 
ให้มือทั้งมือมันเริ่มสั่น
ใครคนนั้นยิ้มให้ฉัน 
ถามว่าเจ็บมือใช่ไหม"

ท่อน Bridge หรือ Pre-chorus นี้นั้นเป็นแบบ xaax เป็นแบบ "ไม่เสถียร" ซึ่งเริ่มให้อารมณ์เพลง เกิดความเด่นชัด แตกต่างจากความ "เสถียร" ของ Verse และความรู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้าไปยังท่อน Chorus

"ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ
ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง
ให้เธอคิดเอาเอง
ว่าชีวิตของเธอเป็นของใคร"
จะเห็นว่าในท่อน Chorus ส่วนแรกนี้ ไม่มีสัมผัสเลย มีแต่คำซ้ำ จึงเป็น "ไม่เสถียร" ซึ่งส่งให้รู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้ายังท่อนต่อไป
"ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ
ถ้าเธอไม่รับมันมาใส่ใจ
ถูกเขาทำร้าย 
เพราะใจเธอแบกรับมันเอง"

ท่อน Chorus ส่วนสองนี้ก็ยังเป็นแบบ "ไม่เสถียร" นะครับ เป็นแบบ xaaa

จริงๆแล้วผมต้องบอกว่า อ้าว!! ทำไมส่วนใหญ่ "ไม่เสถียร" เพราะด้วยอารมณ์เพลงที่มี ที่ต้องการให้รู้สึกถึงอารมณ์จึงเป็นไม่เสถียร แล้วจริงๆ เรื่องของ "เสถียร" "ไม่เสถียร" ในการแต่งเพลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ สัมผัสเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับ สิ่งที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนคือ เรื่อง "วรรค" และยังมีอีกสองอย่างที่จะกล่าวต่อไปในตอนต่อๆไป คือ "ประเภทของสัมผัส" "จังหวะของวรรค"ซึ่งจะมาผสมผสานกันตามความเหมาะสมครับ