แต่งเพลงดีต้องเลือก ประเภทของสัมผัส (Rhyme)

จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงเรื่อง "คำสัมผัส" หรือ Rhyme ในการ แต่งเพลง นะครับ (ใครยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้วเข้าตาม Link นี้เลยครับ แต่งเพลงให้ดีด้วย รูปแบบของสัมผัส) ซึ่งจากที่บอกไปว่า ถ้ามีคำสัมผัสเป็นคู่จะให้ความรู้สึก "เสถียร" สมบูรณ์หรือคลี่คลายขึ้นมา

นอกจากนี้ "คำสัมผัสคล้องจอง" ยังสามารถแบ่งประเภท และให้ความรู้สึก "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ที่ต่างกัน ในตอนนี้จะกล่าวถึง "ประเภทของสัมผัส" ที่จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน ปรับแต่งคำสัมผัสคล้องจอง ในการแต่งเพลง ให้เหมาะสมตามที่ต้องการครับ

ประเภทของสัมผัส

ผมได้ปรับเนื้อหาที่ผมเรียนมาจากวิชา Songwriting ของ Coursera นะครับ เพราะอันนั้นสอนในรูปแบบสัมผัสของภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษจะยุ่งยางในด้านตัวสะกดมากกว่า เช่น fast มีเสียง st ในขณะที่คำไทยถ้าอ่านจะตรงๆ "ฟาส" ก็จะอ่าน "ฟ้าด" (ถ้าไม่ได้ตั้งใจอ่านทับศัพท์นะครับ) ซึ่งเสียงตัวสะกดหรือมาตราตัวสะกดของภาษาไทยมี 9 เสียงคือ

แม่ ก กา (ไม่มีเสียงตัวสะกด)
แม่ กด (เสียง ด)
แม่ กก (เสียง ก)
แม่ กบ (เสียง บ)
แม่ กง (เสียง ง)
แม่ กน (เสียง น)
แม่ กม (เสียง ม)
แม่ เกย (เสียง ย) เช่น กาย ทราย เนย ซึ่งเสียงนี้อาจพูดว่าเป็นสระผสมก็ได้ คือ กาย = กา+อี เป็นต้น
แม่ เกอว (เสียง ว) เช่น กาว ดาว นัว เดี๋ยว ซึงเสียงนี้อาจเป็นสระผสมได้เช่น กาว = กา+อู

โดยแม่ เกย กับ เกอว ผมจะมองว่าให้มองเป็นรูปสระซะส่วนใหญ่ครับ เช่น เดียว จะแบ่งได้ = ดี+อา+อู รวมกันครับ (ลองพูด ดีอาอู เร็วๆจะได้ เดียว) ครับ เลยให้มองว่าไม่มีตัวสะกดแทน เป็นแม่ ก กา จะสะดวกกว่าครับ

ประเภทสัมผัสจะแบ่งได้ดังนี้

  1. สัมผัสสมบูรณ์ คำสัมผัสคล้องจองแบบนี้จะมีลักษณะคือ
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงตัวสะกดเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน (ถ้าเหมือนกันจะเกิด ความซ้ำ ทำให้ฟังแล้วไม่คลี่คลาย ไม่นับเป็นคำสัมผัส)

    เช่น ฉัน - วัน, เธอ - เจอ, รัก - หัก เป็นต้น

  2. สัมผัสใกล้เคียง มีลักษณะดังนี้
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกด ต่างกันใช้เสียงใกล้เคียงแทนกัน คือ
      แม่ [กก กด กบ] ใช้แทนกันได้
      แม่ [กง กน กม] ใช้แทนกันได้ครับ

    เช่น ฉัน - ทำ, กลับ - รัก

  3. สัมผัสแบบเพิ่ม มีลักษณะดังนี้
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • มีเสียงสระเริ่มต้นเหมือนกัน
    • เพิ่มเติม ส่วน สระ และ ตัวสะกดของคำหลังเข้าไปให้ยาวกว่า
    • หรือ สระของคำหน้าเป็นสระเสียงสั้น สระของคำหลังเป็นสระเสียงยาว

    หรือถ้าให้พูดง่ายๆ คือ สระออกเสียงเดียวกันส่วนนึง แต่คำหลังจะมีความยาวมากกว่านั่นเอง เช่น
    ฟ้า - ดาว (ดาว เป็นคำหลัง ประกอบด้วยสระ อา+อู มีสระอูเข้ามา)
    รัก - มาก (สระคำแรกเป็น -ะ สระคำหลังเป็น -า ซึ่งเป็นสระเสียงยาวของ -ะ)
    เสีย - เดียว (เสีย = สี+อา , เดียว = ดี+อา+อู)

  4. สัมผัสแบบลด จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับ สัมผัสแบบเพิ่ม คือ
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • มีเสียงสระเริ่มต้นเหมือนกัน
    • เพิ่มเติม ส่วน สระ และ ตัวสะกดของคำหน้าเข้าไปให้ยาวกว่า
    • หรือ สระของคำหน้าเป็นสระเสียงยาว สระของคำหลังเป็นสระเสียงสั้น


    หรือก็คือ คำหน้า จะสั้นกว่าคำหลัง เช่น
    ความ - ตา
    เลย - เธอ

  5. สัมผัสไม่พ้อง จะมีลักษณะคือ
    • เสียงสระต้องเหมือนกัน
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกดต่างกันเลยโดยไม่ใช่สัมผัสใกล้เคียง

    เช่น รัก - ฉัน, กลับ - ครั้ง

  6. สัมผัสพ้องตัวสะกด จะมีลักษณะคือ
    • เสียงพยัญชนะต่างกัน
    • เสียงตัวสะกดเหมือนกัน
    • เสียงสระต่างกัน (ถ้าเป็นสระผสม สระตัวสุดท้ายเหมือนกันได้ เช่น แม่เกย ที่ลงท้ายด้วยสระ อี ตลอด เป็นต้น)


    เช่น วัด - โหวต, หาย - โหย, มาก - โลก

   ทีนี้เราก็มาดูว่าสัมผัสทั้ง 6 ประเภท เมื่อนำเอาไปใช้ในการ แต่งเพลง จะทำให้เกิดความรู้สึก "เสถียร" "ไม่เสถียร" อย่างไร

แต่งเพลง10



  จากกราฟด้านบนแสดงให้เห็นว่า สัมผัสแต่ละประเภทจะให้ความรู้สึก "เสถียร" ไล่ไปตามความสมบูรณ์ของสัมผัสตั้งแต่

สัมผัสสมบูรณ์ > สัมผัสใกล้เคียง > สัมผัสแบบเพิ่ม/แบบลด > สัมผัสไม่พ้อง > สัมผัสพ้องตัวสะกด
  • สัมผัสสมบูรณ์ จะให้ความรู้สึก "เสถียร" รู้สึกสมบูรณ์ จบ มากที่สุด เพราะทุกองค์ประกอบคล้องจองครบถ้วน แต่อาจทำให้สมบูรณ์ แข็งเกินไป อาจใช้ สัมผัสใกล้เคียง แทนได้
  • สัมผัสใกล้เคียง จะให้ความรู้สึกไปทาง "เสถียร" เพราะ ยังมีสัมผัสเสียงสระ และ ตัวสะกดยังใกล้เคียง แน่นอนว่าช่วยให้เราสามารถเลือกใช้คำได้มากขึ้น ในกรณีหา สัมผัสสมบูรณ์ได้ยาก
  • สัมผัสแบบเพิ่ม และ ลด อาจให้ทั้งความรู้สึกไปทาง "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ได้ โดยแบบเพิ่ม จะสามาถให้ความรู้สึกแบบเสถียร และ "เน้น" คำหลังที่เพิ่มขึ้นมาได้ ส่วนแบบ ลด จะให้ความรู้สึกแบบไม่เสถียร ให้ความรู้สึก ค้างคา "ต้องมีต่อ" ได้ลักษณะคล้ายเรื่อง ความยาววรรค
  • สัมผัสแบบไม่พ้อง เพราะเสียงตัวสะกดต่างกันมาก จึงให้ความรู้สึกแบบ "ไม่เสถียร"
  • สัมผัสแบบพ้องตัวสะกด ยังเป็นสัมผัสอยู่ แต่ว่าเนื่องจากไม่สัมผัสสระ จึง "ไม่เสถียร" ที่สุด

เป็นยังไงบ้างครับ ไม่ยากใช่มั้ยครับ เนื่องจากในการแต่งเพลง "สัมผัสคล้องจอง" เป็นสิ่งสำคัญถ้าอยากให้ฟังแล้วรู้สึกความรู้สึกด้านอารมณ์เยอะๆ ไม่เสถียร ต้องมีต่อ ตื่นเต้น นอกจากการตัดการมีคำคล้องจองออกไป ยังสามารถเลือกใช้ "ประเภทของสัมผัส" ให้ถูกต้องและเหมาะสมได้ด้วย