แต่งเพลงให้เข้าถึงอารมณ์ด้วย Stable Unstable
จากความเดิมตอน 1-5 ที่กล่าวถึงการ แต่งเพลง และจาก แต่งเพลงยังไงไม่ให้คนฟังเบื่อ ที่กล่าวถึงเรื่องความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ไดนามิก ในการ แต่งเพลง ให้ไม่น่าเบื่อคนฟังติดตามฟังจนจบเพลง ในตอนนี้เราจะมาอธิบายรายละเอียดและแนวคิดกันครับ เพื่อที่เราจะได้นำไปใช้ในการแต่งเพลงส่วนเนื้อเพลงที่เป็นองค์ประกอบอื่นที่ไม่ใช่เนื้อหา เช่น คำคล้องจองสัมผัส จำนวนท่อน เป็นต้น
การ แต่งเพลง นั้น จุดสำคัญคือต้องแต่งเพลงให้สื่อในสิ่งที่เป็นประเด็นหลักของเพลง ดังนั้นในการแต่งเพลงแต่ละส่วนจะต้อง สอดคล้อง กันทั้งด้านอารมณ์ และ เนื้อหา ซึ่งเราได้เรียนรู้วิธีกำหนดเนื้อหาลงในรูปแบบเพลงไปแล้ว จึงควรจะต้องแต่งในส่วนอารมณ์ให้สอดคล้องด้วย ซึ่งคอร์ส Songwriting ใน Coursera ได้สอนลักษณะไว้พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกของ "ส่วนประกอบเพลง" เพื่อช่วยในการแต่งเพลงดังนี้ครับ
Stable หรือ เสถียร
เป็นลักษณะของส่วนประกอบของเพลงที่ฟังแล้ว "จบ" ฟังแล้ว "ฟิน" ฟังแล้วรู้สึก "สมบูรณ์" ไม่ต้องมีอะไรต่อ ลักษณะเสถียรนี้ เหมาะกับ เนื้อหาเพลงที่เป็น "ข้อมูล" "ความจริง" หรือเนื้อหาที่สื่อถึงอารมณ์น้อย หรือท่อนที่ฟังแล้วจบ สมบูรณ์
เช่น ท่อนจบของเพลงที่ให้ความรู้สึกจบ เป็นต้น
Unstable หรือ ไม่เสถียร
เป็นลักษณะของส่วนประกอบที่ฟังแล้ว "ไม่จบ" "ไม่สมบูรณ์" "ต้องมีต่อ"..."ให้ความรู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า" "ค้างคา" ลักษณะไม่เสถียรนี้ เหมาะกับเนื้อหาที่สื่อถึง "อารมณ์" เยอะ มีการ "พัฒนา" ของเนื้อหา มีการ "เคลื่อนที่ไปข้างหน้า" ต้องมีท่อนต่อ
เช่น ท่อนส่งหรือ bridge ที่ไม่เสถียรฟังแล้วต้องมีต่อ ต้องส่งไปท่อน Chorus เป็นต้น
ซึ่งความ “เสถียร" และ "ไม่เสถียร" นั้น ก็ไม่ใช่ว่าต้องแบ่งสองอย่างชัดเจน แต่มีระดับมากน้อยได้ เช่น "ไม่เสถียรมาก" "ไม่เสถียรน้อย" และในหนึ่งเพลงสามารถใส่ "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ผสมกันได้ เพื่อสร้าง ไดนามิก ความเปลี่ยนแปลงในเพลงนั่นเอง
ในส่วนการแต่งเพลง ในส่วนเนื้อเพลงนั้นเราจะคำนึงองค์ประกอบหลัก 5 อย่างคือ
- จำนวนวรรค
- ความยาวของวรรค
- รูปแบบของสัมผัส (Rhyme)
- ประเภทของสัมผัส (Rhyme)
- จังหวะของวรรค