แต่งเพลง จำนวนวรรค ก็สำคัญ

จากตอนที่แล้วที่ได้พูดถึงองค์ประกอบในการ แต่งเพลง ในส่วนเนื้อเพลงที่นอกเหนือจากส่วนเนื้อหา 5 อย่างคือ

  1. จำนวนวรรค
  2. ความยาวของวรรค
  3. รูปแบบของสัมผัส
  4. ประเภทของสัมผัส

โดยจะสามารถจัดการองค์ประกอบให้อารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาได้ ตามมี่แบ่งไว้ 2 ลักษณะ คือ "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ในตอนที่แล้ว แต่งเพลงให้เข้าถึงอารมณ์ด้วย Stable Unstable

ในตอนนี้จะพูดถึงองค์ประกอบอย่างแรกคือ "จำนวนวรรค" ครับ

จำนวนวรรค

ในที่นี้อาจจะงงว่า "วรรค" คืออะไรนะครับ ในภาษาอังกฤษเรียก "Line" หรือ บรรทัด ซึ่งผมก็ไม่รู้จะแปลยังไงชัดเจนให้เข้ากับวิธีของภาษาไทย เลยใช้คำว่า "วรรค" ครับ ซึ่งผมคิดว่าออกคล้ายๆกับวรรคที่ใช้ใน "กลอน" แต่อาจต่างกันหน่อยเพราะอยู่ในเพลง ผมจะจำกัดความในคำว่า "วรรค" ก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกันครับ (อาจไม่ตรงกับนิยามภาษาไทยนะครับ)

วรรค ในที่นี้คือ มันคือ 1 ถ้อยคำก่อนจะเว้นวรรคหายใจ ทั้งตอนพูดหรือร้อง ครับ โดยวรรคจะต้องสมบูรณ์ในความหมาย จริงๆเนื่องจากคนฟังเป็นเกณฑ์ ดังนั้นมันแล้วแต่ความรู้สึกครับว่ามันควรแบ่งเป็นวรรคหรือรวมกัน

เช่น เพลง ยาพิษ ของ Bodyslam นะครับ "เอะอะก็ว่ารัก เอะอะก็คิดถึง แต่เธอไม่เคยซึ้งไม่เคยเข้าใจ" จะเห็นว่าแบ่งเป็นสามวรรคในส่วนนี้ครับ

แล้วจำนวนวรรค เกี่ยวอะไรกับความรู้สึกของเพลง? เป็นในเชิงจิตวิทยาครับ ในจำนวนวรรค "คี่" คนเราคาดหวังในตอนฟังว่าเพลงต้องเป็นอย่างนี้ น่าจะต่อด้วยแบบนี้ ซึ่งถ้าผิดความคาดหวัง คนฟังจะรู้สึกค้างคา ซึ่งนั่นก็คือ "ไม่เสถียร" หรือไม่สมดุลนั่นเองครับ ในเชิงจิตวิทยาคนเรามักคาดหวังอะไรเป็นจำนวน "คู่" Balance จึงสมบูรณ์ครับ ดังนั้น

จำนวนวรรคเป็นจำนวนคู่ = เสถียร
จำนวนวรรคเป็นจำนวนคี่ = ไม่เสถียร

ผลของจำนวนวรรค

  1. ช่วยในเรื่องสนับสนุนอารมณ์เพลง อย่างที่ได้กล่าวไว้ในก่อนหน้านี้ว่า
    • จำนวนวรรคเป็น "คู่" จะเป็น "เสถียร" ใช้สนับสนุนเนื้อหาที่เป็นความจริง มีความชัดเจน
    • จำนวนวรรคเป็น "คี่" จะเป็น "ไม่เสถียร" จะสนับสนุนเนื้อหาที่เน้นไปทางความรู้สึก กระตุ้นความรู้สึกคนฟัง ตื่นเต้น เศร้า
  2. ช่วยเน้นประเด็นสำคัญของเนื้อเพลง จำนวนวรรคเป็น "คู่" จะทำให้คนฟังรู้สึกสมบูรณ์ Balance สำเร็จตามเป้าหมาย ช่วยเน้น Main Idea ของเพลง
  3. ใช้ในการ "หยุด" หรือ "เคลื่อนที่" จากส่วนนึงของเพลงไปยังส่วนนึง
    • จำนวนวรรคเป็น "คู่" จะรู้สึก "จบ" ดังนั้นจึงใช้ในการ "หยุด"
    • จำนวนวรรคเป็น "คี่" จะรู้สึก "ค้างคา" "ต้องมีต่อ" จึงใช้ในการ "เคลื่อนที่ไปข้างหน้าของเพลง" ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วน Bridge (Pre-Chorus) ส่งไป Chorus หรืออาจจะเป็นแบบอื่น เช่น

      เพลง ก้อนหินกับนาฬิกา ของ พี่เบิร์ด
      "(Bridge)...แต่ถามว่ารักไหม
      เหนื่อยนักแล้วรักไหม
      ฉันคงยังมีใจตอบว่ารัก

      แต่ถามว่าท้อไหม
      ฉันตอบเลยว่ามาก
      ยากเย็นจนเกินความเข้าใจ

      (Verse)นาฬิกาก็เดินไปทุกนาที
      ใจดีดีก็ยังคงทุ่มเทไป
      คอยหวังว่าเมื่อไร
      ที่เธอเองได้เห็นว่าใคร
      ยังรักเธอ..."

      จะเห็นว่า Bridge (ผมมองว่าท่อนนี้เหมือนฮุค แต่คิดให้เป็น Bridge เพราะไม่ได้ติดหูและซ้ำบ่อยๆครับ) นั้นแบ่งเป็น 2 ช่วง แต่ละช่วงมี 3 วรรค
      เป็นจำนวนคี่ ทำให้รู้สึกว่าต้องมีต่อจาก คนฟังคาดหวังว่ามีอะไรต่อ Bridge ส่วนแรก ส่งไปยัง Bridge ส่วนสอง ส่งไปยัง Verse เพื่อจบ

  4. ใช้ในการสร้าง "ความแตกต่าง" "ความเด่นชัด" ในส่วนของเพลงที่เราต้องการเน้น เช่น ปกติคนฟังจะคาดหวังกับท่อนก่อนหน้าว่า ท่อนนี้ ควรมีจำนวนวรรคเท่านี้ ถ้าเพิ่มไปอีกวรรค จะกลายเป็นจุดสนใจออกมา เช่นคล้ายกับที่ เพลงไทยมักจะใส่เพิ่มมาจากเดิมตอนจบ 1 วรรค
    เช่น ดังเพลง "ก้อนหินกับนาฬิกา" ด้านบน คนฟังก็คิดว่ามันจะจบแค่นี้ พอตอนจบของเพลงเพิ่ม "และวันนึงเธอคงรู้ว่าใคร ยังรักเธอ" เข้ามา ทำให้ส่วนท่อนสุดท้ายนี้เด่นชัดขึ้นมานั่นเอง

เอาล่ะครับ ทีนี้ก็มีเครื่องมืออย่างนึงไว้ใช้ในการแต่งเพลงให้เข้ากับเนื้อหาแล้ว อันที่จริงผมคิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเคร่งครัดอะไร อาจจะตั้งเป็นเกณฑ์กำหนดตอนแรกตอนแต่งเลยก็ได้ หรือเพียงแค่ไว้ใช้นึกตอนแต่งเพลงและตรวจสอบดูก็ได้ครับ บางทีอาจจะลองแต่งด้วยอารมณ์ตัวเองขึ้นมาโดยไม่มีกฏเกณฑ์ก่อน แล้วค่อยลองปรับแก้ดู ว่ามันดีขึ้นหรือไม่ แล้วก็ปรับตามสถานการณ์ครับ