แต่งเพลงต้องใช้ จังหวะของวรรค

ในตอนนี้เรามาพูดถึงเรื่อง "จังหวะของวรรค" กันครับ ว่ามีผลต่อการ แต่งเพลง อย่างไร

จังหวะของวรรค

จังหวะของวรรคคืออะไร? คือ จังหวะที่วรรคของเพลงไปอยู่นั่นเองครับ ซึ่งจะช่วยในการแต่งเพลงให้ผลกับความรู้สึก "เสถียร" "ไม่เสถียร" ได้ หากใครยังไม่ได้อ่านตอนที่กล่าวถึง "เสถียร" "ไม่เสถียร" เข้าไปตาม Link นี้เลย แต่งเพลงให้เข้าถึงอารมณ์ด้วย Stable Unstable

ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องทฤษฏีดนตรีเรื่องจังหวะอะไรนะครับ เพราะหลายท่านคงรู้อยู่แล้ว แล้วจะเขียนเพิ่มเติมในภายหลังครับ

เรามาดูกันครับว่า วรรค กับ จังหวะมีผลอย่างไร

  • ถ้าเริ่มต้นวรรคก่อนหรือครอบคลุม Downbeat หรือจังหวะแรกของห้อง จะถือว่ามีน้ำหนักมาก เป็น "เสถียร"
  • ถ้าเริ่มต้นวรรคหลังหรือข้าม Downbeat หรือจังหวะแรกของห้อง จะให้ความรู้สึกมีการเคลื่อนที่ "ไม่เสถียร"
  • ปกติใน 1 วรรคการร้อง จะคลอดคลุม 2 ห้อง ถ้า ทั้งสองห้องข้าม จังหวะแรก หรือ Downbeat ไป ก็จะ "ไม่เสถียร" มากขึ้น

ถ้าพูดถึงอาจจะนึกไม่ออกนะครับ มายกตัวอย่างเพลงกันครับ เช่น

ตัวอย่างที่ 1

เพลง ก้อนหินก้อนนั้น - โรส ครับ
ถ้านับจังหวะของเพลงจะได้

เคย มี ใคร ซักคน    ได้บอก ฉันมา
 1        2             3      4             1    2    3....

จะเห็นว่าเพลงนี้วรรคแรกนี้นั้นได้เริ่มคำว่าเคยตรงจังหวะแรกของห้องพอดี เลยให้ความรู้สึก "เสถียร" (ซึ่งจริงๆไม่ต้องขึ้นเนื้อเพลงตรงจังหวะแรกก็ได้ อาจเริ่มก่อน ก็จะ "เสถียร" เช่นกัน)

ทีนี้ลองปรับนะครับ (อาจดูไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่) เช่น เราตัดไปคำนึงเพื่อให้วรรคนี้เริ่มหลัง จังหวะแรก ให้เป็น "ไม่เสถียร" เช่น

มี ใครซักคน     ได้บอก ฉันมา
1        2          3        4             1    2    3....

ลองร้องแบบนี้ดู จะรู้สึกว่าเพลงก็จะรู้สึกค้างคา "ไม่สมบูรณ์" ให้อารมณ์ไปต่อครับ

ตัวอย่างที่ 2

เพลง สู่กลางใจเธอ (A Tu Corazon) - ปั่น ครับ

ถึง แม้ ว่ามัน    จะไกล    สุดไกล แสนไกล
1       2           3           4        1     2        3....

จะเห็นว่าเพลงนี้นั้นวรรคแรกนี้นั้น ขึ้นมาหลังจังหวะแรก ทำให้เกิดรู้สึกเคลื่อนไหวมีอารมณ์ไปต่อ "ไม่เสถียร" แต่ในห้องที่สองของวรรคนี้นั้น ลงคำว่า "ไกล" ตรงจังหวะแรกของห้องสองพอดี จึงเกิดความ "เสถียร" ขึ้นมาทำให้รู้สึกสมบูรณ์ขึ้นมาบ้างในตอนท้ายวรรค

ทีนี้มาลองปรับดู เป็นให้เริ่มที่จังหวะ 1 ครับ ปรับเนื้อด้วยเล็กน้อยให้เข้ากัน

ฉัน ก็รู้ ว่ามัน    จะไกล    สุดไกล แสนไกล
1       2         3            4        1     2        3....

จะเห็นว่าเพลงฟังดู ไม่รู้สึกถึงอารมณ์ต้องไปต่อเท่าไหร่ เกิดความ "เสถียร"

คำในจังหวะ



   นอกจากจังหวะที่วรรคของเนื้อเพลงไปตกลงแล้ว ยังมี "คำ" ที่ไปตกในจังหวะก็มีผลเช่นกัน

แต่งเพลง11

จากรูปภาพด้านบนจะเห็นว่าจังหวะ ที่ 1 และ 3 ในทางดนตรีจะเรียน Strong beat หรือก็คือจังหวะที่หนักแน่น ส่วน 2 และ 4 จะเรียก Weak beat หรือจังหวะที่จืดจาง ซึ่งจังหวะที่ 1 จะหนักแน่น กว่าจังหวะที่ 3

ดังนั้นเมื่อเราแต่งเพลงแต่งคำร้องลงไปในทำนอง

  • คำสำคัญ เช่น คำนาม กริยา ควรจะอยู่ในจังหวะ 1 และ 3 ที่หนักแน่น เสถียร เวลาร้องหรือเล่นดนตรีในจังหวะนี้จะเกิดการเน้น
  • คำที่สำคัญน้อยลงมา ควรอยู่ในจังหวะ 2 และ 4
  • คำที่ไม่สำคัญ เช่น คำเชื่อม คำบุพบท (พวก "ใน" "ถ้า")  ไม่ลงจังหวะไปเลย

(ปล. ความสำคัญแล้วแต่ว่าเพลงต้องการสื่ออะไรด้วยครับ)

อย่างถ้าย้อนกลับไปดูเพลง ก้อนหินก้อนนั้น ครับ

เคย มี ใคร ซักคน    ได้บอก ฉันมา
 1        2             3                   1    2    3....

จะเห็นว่า คำไม่สำคัญจะ ไม่ตกลงที่จังหวะครับ ส่วนที่สำคัญอย่าง "เคย" เพื่อเป็นการบอกถึงอดีต ตกอยู่ที่จังหวะ 1 ส่วน "ใคร" "บอก" จะตกลงที่จังหวะ 2 และ 4 ครับ

อาจมีข้อสงสัยว่าแล้วถ้าจังหวะแบบอื่นที่ไม่ใช่ 4/4 แต่เป็น 3/4
จังหวะ 3/4 Strong beat หรือ จังหวะที่หนักแน่น จะอยู่ที่จังหวะ 1 จังหวะเดียว จังหวะ 2 และ 3 จะเป็น Weak beat

นอกจากนี้ ยังสามารถปรับแต่งในระดับห้องได้ อย่างที่เราทราบกันว่าตั้งแต่ในตอน "เสถียร" "ไม่เสถียร" ว่า สามารถใช้ Strong beat กับ Weak beat เป็นแทนห้องได้ครับ เพื่อใช้ในการปรับแต่งวรรค จากรูปด้านบน จะเห็นว่า ห้อง (bar) ที่ 1 จะ Strong ห้องที่ 2 จะ Weak ห้องที่ 3 จะ Strong ครับ

ซึ่งจะกล่าวได้เหมือนแบ่ง Strong beat เป็นสี่ส่วน คือ
ห้องที่ 1 | ห้องที่ 2 | ห้องที่ 3 | ห้องที่ 4 | ห้องที่ 1 |.....
 Strong    Weak    Strong     Weak      Strong  ......

ซึ่งถ้าเราวาง วรรคของเพลง ไว้ในส่วนของห้องที่ 2 และ 4 ก็จะเกิดความ "ไม่เสถียร" ขึ้นนั่นเอง
(ซึ่งห้อง 1 และ 3 เสถียร)

ปล. เลขห้องนี้ ไม่ใช่เลขห้องทั้งหมดของเพลง แต่หมายถึงเมื่อแบ่งทีละ 4 ดังนั้นจึงวน 1-4

ซึ่งจะช่วยให้เราจัดการกับรูปแบบของอารมณ์เพลงได้มากขึ้น เช่น บางทีท่อนที่ผ่านมา อาจจะเป็น Verse  "เสถียร" แล้ว Bridge ก็ยังเสถียร แล้วก็เริ่มที่ ห้องที่ 1 เราก็เว้นวรรคท่อนนี้ไว้ อาจจะใส่ดนตรีอะไรเข้าไปแทน แล้วไปเริ่ม Bridge ในห้องที่ 2 คนฟังที่รู้สึกคาดหวังจะให้ขึ้นห้องที่ 1 ก็จะรู้สึกค้างคาเมื่อไปเริ่ม ห้อง 2 เกิดความ "ไม่เสถียร" ทำให้เกิด การ "เน้นให้เด่นชัด" ของเพลงมากขึ้น

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนที่ 6 นี่ก็ได้กล่าวถึง เครื่องมือ หลักการที่ใช้ในการแต่งเพลงในส่วนเนื้อเพลงให้ได้อารมณ์ความรู้สึกตามที่ต้องการ ทั้ง 5 อย่างคือ

  1. จำนวนวรรค
  2. ความยาวของวรรค
  3. รูปแบบของสัมผัส
  4. ประเภทของสัมผัส
  5. จังหวะของวรรค

ทีนี้เราก็จะสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ในการแต่งเพลงอย่างเหมาะสมได้แล้วครับ