แต่งเพลงด้วย Point of view
สวัสดีครับ วันนี้ผมก็จะมานำเสนอ วิธีแนวคิดการ แต่งเพลง โดยเฉพาะในด้าน เนื้อเพลง ครับ ซึ่งจริงๆสิ่งที่ผมกำลังจะเสนอต่อไปนี้เป็นความรู้ที่ผมได้ลงเรียนวิชา Songwriting ของ Berklee college of music ที่เปิดคอร์สใน Coursera.org (Coursera.org คือเว็บที่เป็นการเรียนการสอนออนไลน์โดยจะมีหลากหลายสถาบันมาเปิดคอร์สที่เว็บนี้ ซึ่งเราสามารถลงเรียนได้ฟรี หรือ เสียเงินเพื่อให้ได้ Verified certificate ได้ครับ) ถ้าท่านใดสนใจลงเรียนสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บ www.coursera.org ได้เลยครับ
แต่!! ไม่ใช่ว่าผมจะเสนอความรู้ก๊อปมาจากคอร์สนั้นโดยตรง สิ่งที่ผมจะเขียนอธิบายจะเป็นสิ่งที่ผมวิเคราะห์สรุป และปรับให้เหมาะกับเพลงไทยแล้ว เนื่องจากว่าบางทีแนวทางด้านดนตรีต่างๆของภาษาไทยกับอังกฤษนั้นต่างกันครับ แล้วผมก็จะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆ และยกตัวอย่างครับ ถ้าอย่างงั้นก็มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
หลายคนคงทราบอยู่แล้วว่า เวลาเราฟังเพลงนั้นสิ่งที่เราได้รับจากการฟังนั้นคือ "เนื้อหา" และ "อารมณ์" ของเพลง ซึ่งมองในมุมกลับ นั่นก็คือ เพลงจะต้องเป็นตัวกลางสื่อสาร อารมณ์ เนื้อหา ของศิลปินออกมาให้ผู้ฟัง มีหลายคนที่มองว่าการ แต่งเพลง เป็นศิลปะ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีหลักการใดๆมากมาย แต่งๆออกมาเลย ซึ่งผมก็ได้ลองฟังและคุยสมัครเล่นอยู่บ้าง ก็พบว่า คนเหล่านั้นมักสนใจแต่ด้านดนตรี Harmony (พวก Chord Progression) ในการสื่อสาร มากกว่า "เนื้อร้อง"
แล้วเนื้อร้องมันจะสำคัญอะไร ก็แค่หาคำยัดๆให้ลงทำนองที่แต่งไม่ใช่หรอ!? ไม่น่าจะมีผลแค่แต่งให้คำร้องออกมาสวยๆสื่อสารได้ก็พอไมใช่หรอ!?.... จริงๆ ผมก็เคยคิดอย่างนั้นมาก่อนจนเมื่อมาเรียนวิชา Songwriting ที่ได้กล่าวไว้ด้านบน ว่าลักษณะของเนื้อร้องนั้นมีผลต่ออารมณ์ผู้ฟังในเชิงจิตวิทยาอยู่
วันนี้ผมจะเสนอ สิ่งหนึ่งที่สำคัญของการแต่งเนื้อเพลง ซึ่งมีผลต่ออารมณ์เป็นระดับๆกันคือ "Point of view"
Point of view
หรือถ้าให้พูดง่ายๆคือ มุมมองของบุคคลในเพลงแบ่งได้ 4 ประเภทคือ
- 3rd Person Narration หรือก็คือ เพลงเล่าถึงบุคคลที่สาม หรือพูดถึงบุคคลอื่นนั่นเอง
เช่น "ในวันที่เขาได้พบกับเธออีกครั้งนึง" ในเพลงคำถามโง่ๆ ของ พี่คัทโตะ จะเห็นว่าเพลงนี้ผู้ร้อง กล่าวถึงเรื่องของคนอื่น - 1st Person Narration เพลงเล่าถึงตัวเอง (ผู้ร้อง) อันนี้ในเพลงไทยค่อนข้างจะสับสนกลมกลืนไปหน่อย เพราะถ้ามีเนื้อเพลง "ฉันรักเธอ" ก็อาจหมายถึง เธอคนนั้น หรือ เธอคือผู้ฟังก็ได้
ในรูปแบบนี้ถ้าภาษาอังกฤษคือเนื้อเพลง "I love her" เป็นการเล่าเรื่องตัวเองว่ารักเธอคนนั้น - 2nd Person Narration เพลงพูดหรือเล่าเรื่องของผู้ฟัง ยกตัวอย่างเป็นภาษาอังกฤษนะครับ เพราะเพลงไทยไม่ค่อยมีเหมือนกัน คือ "You love her" "คุณชอบเธอ"ตัวเพลงพูดถึงเรื่องของผู้ฟัง
- Direct Address เพลงตรงๆ จากผู้ร้องไปถึงผู้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่เพลงไทยก็จะพบบ่อยครับ คือเหมือนร้องให้ผู้ฟังรู้สึก ถ้าให้ชัดคือการใช้คำว่า "คุณ" ในเพลงของพี่บอย โกสิยพงษ์ เช่น "ผมแอบชอบคุณ" เป็นต้นครับ
ณ จุดนี้ อาจจะสงสัยกันแล้ว เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับอารมณ์ ก็แค่แต่งให้ตรงเนื้อเพลง... อันที่จริงมันมีผลต่อการต้องการสื่อของเพลงครับ เพื่อให้เหมาะกับระดับที่เราอยากสื่อให้ผู้ฟังได้รับรู้ ก็อาจจะปรับมุมมอง Point of view ของเพลง ซึ่งจะเห็นได้จากภาพกราฟดังต่อไปนี้ครับ
กราฟแสดงความสัมพันธ์ความเข้าถึงของผู้ฟังกับเพลงจากมุมมองที่แตกต่างกัน |
สองฝั่งของกราฟ ฝั่งซ้ายจะเป็น "ความเป็นรูปธรรม ความจริง ครอบคลุม" ฝั่งขวาจะเห็นว่า 3rd Person Narration หรือเพลงที่เล่าเรื่องของผู้อื่น จะกว้าง และเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะเป็นการเล่าเรื่องผู้อื่นที่ชัดเจน แต่ผู้ฟังจะอินหรือได้รับอารมณ์ร่วมน้อยที่สุด (เพราะไม่ได้พูดถึงผู้ฟัง ยกเว้นผู้ฟังจะจินตนาการว่าเค้าคนนั้นเหมือนตัวเอง) ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนเพลง "บัวลอย" ที่เล่าเรื่องของบัวลอย และสภาพสังคม สงครามอย่างชัดเจน มุมมองแบบนี้เหมาะกับการเล่าเรื่องที่เป็นเนื้อหา สารคดี สะท้อนสภาพความจริงนั่นเอง ถัดมาจึงเป็น 1st Person 2nd Person และ Direct Address ตามลำดับ
อาจสงสัยว่าทำไม 1st ถึงอินน้อยกว่า เพราะเนื้อเพลงไม่ได้กล่าวถึงผู้ฟังโดยตรงเลย ผิดกับ 2nd Person ที่พูดถึงเรื่องของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าพูดถึงเรื่องเราอยู่นี่นา ส่วนที่อินและเข้าถึงอารมณ์ผู้ฟังที่สุดคือ Direct Address เพราะผู้ร้องพูดกับผู้ฟังโดยตรง
พูดง่ายๆคือ ในด้านเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกๆคน รูปธรรม ความจริง จะเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้
3rd > 1st > 2nd > Direct
ส่วนในด้านอารมณ์ ความใกล้เคียงกับผู้ฟัง ความรู้สึกจะเรียงกลับกัน เป็น
Direct > 2nd > 1st > 3rd
แต่... ก็ไม่แน่เสมอไป แน่นอนว่าถ้ามองในสภาพปกติ จะแบ่ง ผู้ร้อง ผู้ฟัง ชัดเจน แต่ว่าหลายๆคนผมเชื่อว่า เวลาฟังเพลงก็มักจะจินตนาการว่าตัวเองเป็น ผู้ร้อง ในกรณีนี้ Direst Address ก็ยังได้อารมณ์เต็มๆไปอยู่ดีเช่น อกหักมา ฟังเพลง "ฉันเหมือนคนที่โดนเธอแทงข้างหลังและมันทะลุถึงหัวใจ" ก็คงจะอินได้สุดๆเช่นกัน แต่อาจจะสลับกันตรง 1st และ 2nd อาจจะสลับกัน เพราะถ้า ผู้ฟัง มองตัวเองเป็น ผู้ร้อง การกล่าวว่า "I love her" ย่อมซึ้งกว่า "ํYou love her" ที่กลายเป็น ผู้ฟังไปพูดถึงเรื่องคนอื่นอีกที
จะเห็นได้ว่า Point of view มีความสำคัญในการเลือกแล้วนำมาใช้ในเพลงที่เรากำหนดทิศทาง ถ้าเลือกได้ถูกต้องย่อมสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการสื่อผ่านเพลงได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอนครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดไม่ใช่สูตรตายตัวแน่นหนา อย่างที่บอกว่า เพลงคือสิ่งที่เป็นสื่อให้ผู้รับฟัง ถ้าเรามีกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มตลาดที่คิดแตกต่าง (คล้ายๆกับที่บอกว่า "ผู้ฟัง" คิดว่าตัวเองเป็น "ผู้ร้อง") ก็ต้องปรับตามสถานการณ์ครับ
ตอนนี้ขอจบเท่านี้ครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ ^ ^ ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ มีอะไรสงสัยหรือแนะนำอะไรคอมเมนท์ได้เลยครับ